Thursday, 4 August 2011

ຜຍາພັງເພີຍ

๑) ผญาพังเพย
คำผญาพังเพยนี้มักจะกล่าวสอนขึ้นมาลอยๆเป็นคำกลางๆเพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง คำพังเพยคล้ายสุภาษิต มีลักษณะเกือบเป็นสุภาษิต เป็นคำที่มีลักษณะติชม หรือแสดงความคิดเห็นอยู่ในตัว เช่น ทำนาบนหลังคน คำพังเพยไม่เป็นสุภาษิตเพราะไม่เป็นคำสอนแน่นอน และไม่ได้เน้นคำสอนในตัวเอง เป็นลักษณะคำเปรียบเทียบ
ลักษณะของคำพังเพยอีสานนี้เรียกอีกอย่างว่า คำโตงโตยหรือยาบสร้อย บางท้องถิ่นนิยมเรียกว่า ตวบต้วยหรือยาบเว้า เป็นข้อความในเชิงอุปมาอุปไมยที่ไพเราะสละสลวยและมีความหมายลึกซึ่งคมคายเช่นเดียวกับผญาภาษิต บางคำมีความหมายลึกซึ้งเข้าใจยากกว่าผญาภาษิตมาก มีนัยต่างกันบ้างกับผญาภาษิตตรงที่คำพังเพยหรือยาบสร้อยนี้ไม่เป็นคำสอนเหมือนผญาภาษิต เป็นเพียงคำเปรียบเทียบที่ให้ข้อเตือนใจหรือเตือนสติให้คนเรานึกถึงทางดีหรือทางชั่ว ผญาพังเพยจัดเป็นความเปรียบเทียบ กล่าวคือแสดงทรรศนะบ้างอย่างเพื่อแสดงให้เห็นภาพพจน์ชัดเจน ดังคำพังเพยว่า “ เห็นว่าเวียงจันทร์เศร้า สาวเอยอย่าฟ้าวว่า มันสิโป้บาดหลา คือแตงช้างหน่วยปลาย” ๑๖ จากข้อความนี้เปรียบเทียบให้เห็นถึงเมืองเวียงจันทร์ที่ยังไม่เจริญรุ่งเรืองเหมือนกรุงเทพฯ มักจะนำเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ ที่เจริญกว่า แต่ก็อย่าประมาทว่าเวียงจันทร์จะไม่เจริญ ในคำพังเพยนี้บอกเป็นนัยว่า เมืองเวียงจันทร์จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นในอนาคต และนัยตรงกันข้ามก็มีคำพังเพยที่กล่าวถึงความเสื่อมของกรุงเทพฯเอาไว้ว่า “ เวียงจันทร์ฮ้าง สิเป็นโพนขี้หมาจอก บาดห่าบางกอกฮ้าง สิเป็นหม่องกระต่ายนอน”๑๗
นักปรัชญาอีสานมักจะสรรหาคำที่เปรียบเทียบถึงลักษณะของคนไว้อย่างน่าสนใจว่า การดูคนนั้นจะต้องพิจารณาให้เห็นถึงต้นตระกูลของบุคคลนั้นว่ามีนิสัยอย่างไร ก็มักจะแสดงออกมาตามต้นกำเนิดคือพ่อแม่ ดังมีคำพังเพยว่า “เซื้อหมากต้อง บ่ห่อนหล่นไกกก แนวผมดก บ่ห่อนหัวเป็นล้าน๑๘ ( ลูกกระท้อนไม่หล่นไกลต้น คนที่มีเชื่อแถวเป็นคนผมดกหัวคงไม่ล้าน) มีนัยถึงคนที่ดีหรือชั่วนั้นอาจดูได้จากพ่อแม่ของคนนั้น ถ้าพ่อแม่ดีลูกก็จะถูกฝึกอบรมให้เป็นคนดีได้ด้วย
คำว่าโลกธรรม คือมีมาประจำกับโลกมนุษย์ สิ่งนั้นคือ สรรเสริญ นินทา ปราชญ์อีสานได้กล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ดังคำพังเพยว่า “ ซื่อว่าการยกย่อง นินทาประจำโลก มีแต่ปู๋แต่ปู้ หนีได้ฮ่อมได๋” ๑๙ (อันการยกย่องสรรเสริญและการนินทานั้นเป็นของประจำโลก มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่มีใครจะหลีหนีพ้นได้) จากคำพังเพยบทนี้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งนี้เป็นโลกธรรม อย่างแท้จริง ไม่มีใครจะหลีหนีพ้นจากคำกล่าวเหล่านี้ นักปราชญ์อีสานมักจะสอนให้รู้และสามารถทำใจได้หรือปล่อยว่างได้ คนจะมีความสุขสงบได้
ผญาคำพังเพย คือคำผญาที่พูดเป็นประโยคสั้นๆ เพื่อเป็นคติเล็กๆ น้อยๆ เป็นคำพูดคมคายชวยให้คิด เป็นคำปัญหาหรือตลก เป็นคำไพเราะเพราะพริ้ง น่าฟัง หรือชวยให้เพลิดเพลิน มักเป็นคำกล่าวสั้นๆ เพียงประโยคเดียวหรือสองประโยค และส่วนมากไม่เกินสี่วรรคหรือสี่ประโยค เช่น ขายของให้พี่น้อง ขายฆ้องให้เจ้าหัว

No comments:

Post a Comment