Thursday 4 August 2011

ຜຍາກ້ຽວ

๓) ผญาเกี้ยว
เป็นคำผญา พูดจากัน เพื่อเป็นสื่อในการติดต่อซึ่งกันและกันนั้นคนอีสานเรียกว่า การจ่ายผญา บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล๒๒ กล่าว่าการจ่ายผญานั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนปัญญาก่อนไม่สามารถพูดจาตอบโต้ได้ก็จะแสดงว่าฝ่ายนั้นมีภูมิปัญญาด้อยกว่าอีกฝ่าย ฉะนั้นการจ่ายผญาจึงเป็นวิธีการทดสอบภูมิปัญญาขอบคนอีกอย่างหนึ่งที่นิยมกันของชาวอีสานในอดีต ด้วยเหตุนี้คนอีสานในสมัยก่อนจึงต้องเรียนรู้ คำผญา ไว้ให้มากที่สุด เท่าที่จะหาได้ โดยเรียนจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือญาติพี่น้องของตนเองบ้าง แล้วจึงไปเรียนรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ ที่มีความรู้ในหมู่บ้านของตน วิธีเรียนนั้นก็ใช้วิธีบอกโดยผู้เรียนต้องจำเอาตามที่ผู้สอนบอก เรียกว่ามุขปาฐะนั้นเองคำผญาที่เรียนในช่วงแรกๆจะเป็นคำผญาที่จำเป็นต้องใช้ในชีวีตประจำวัน เช่นคำผญาเกี่ยวกับการถามข่าว ถึงสาระทุกข์สุขของกันและกัน ใช้ถามถึงพ่อแม่ พี่น้อง หรือถามถึงสถานภาพทางครอบครัวว่ายังโสดหรือว่ามีแฟนแล้ว จึงพัฒนามาเป็นผญาเกี้ยวระหว่างหนุ่มสาว ใช้จ่ายผญาติดต่อกัน
นอกจากนี้ยังมีการจ่ายผญาในประเพณีต่าง คือประเพณี อ่านหนังสือผูก หรือในงานบุญต่างๆที่ชาวบ้านจัดขึ้น เช่น งานงันเฮือนดี (งานศพ) งานงันหม้อกรรม( การฉลองสตรีที่อยู่ไฟหลังคลอด) เป็นต้น ชาวบ้านจะมาร่วมชุมนุมช่วยเหลือกันด้วยน้ำใจไมตรี หรือในเวลาลวงข่วงเข็นฝ้าย ในการตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง และในงานลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวได้พบกัน วิสุทธิ์ บุษยกุล ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องวรรณกรรมอีสาน ได้เล่าถึงการจ่ายผญาเกี้ยวของหนุ่มสาวชาวอีสานไว้ว่า
…ในงานวัดใหญ่ๆ จะมีหญิงสาวจากหมู่บ้านต่างๆมาเที่ยวงาน หญืงสาวเหล่านี้จะมารวมกันอยู่ที่ปะรำที่ทางวัดจัดไว้โดยแยกเป็นหมู่บ้าน ส่วนพวกชายหนุ่มและไม่หนุ่ม ทั้งหลายที่เดินผ่านไม่ หากเห็นว่าปะรำไหนมีสาวงามเป็นที่ต้องตาต้องใจตน ก็จะแวะเข้าไปนั่งคุยแทะโลมตามแต่จะทำได้ ถ้าหากว่าหญิงนั้นเป็น “จ้าคารม” คือมีคำคมและภาษิตต่างๆ มากพอที่จะนำมาใช้แทนการสนทนาปราศรัยสามัญแล้วฝ่ายชายเองก็จำต้องหาสำนวนและคารมโต้ตอบ ถ้าหากฝ่ายชายเองก็มีความรู้ในทางทัดเทียมกันการเกี้ยวพาราสีของชายหญิงคู่นั้นจะอยู่ในระดับสูง คำพูดทุกประโยคจะมีอุปมาอุปไมยแทรกอยู่เสมอ ผู้ฟังจะต้องคอยตีความหมายอยู่ตลอดเวลา๒๓
สำหรับหนุ่มสาวที่มาร่วมงาน ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ประลองคารมด้วยการจ่ายผญาเครือกัน เป็นการสร้างบรรยากาศของงานให้เป็นที่สนุกสนานครึกครื้น โดยเฉพาะในงานศพนั้น ชาวบ้านจะมาอยู่เป็นเพื่อนบ้านเจ้าภาพในตอนกลางคืน ผู้เฒ่าผู้แก่จะฟังการอ่านหนังสือผูก (เรื่องที่นิยมอ่านส่วนใหญ่จะเป็นนิทานคติธรรม คือชาดกนอกนิบาตเช่นเรื่องการเกด ก่ำกาดำ ศิลป์ไชย นางผมหอม เสียวสวาสดิ์ จำปาสี่ต้น ผาแดงนางไอ่) ส่วนฝ่ายหนุ่มๆก็ได้โอกาสจ่ายผญาต่อสาวที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ
ลักษณะทางสงคมชนบทอีสานนั้นเป็นสังคมแบบเกษตรกรรม มีระบบการผลิตเพื่อเลี้ยงตนเอง ดังนั้นจึงหน้าอันสำคัญของชายหญิงคือการทำกสิกรรมและหัตถกรรมต่างๆประเพณีการจ่ายผญาเกี้ยวของหนุ่มสาวชาวอีสานจึงสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ช่วงเวลาที่หนุ่มสาวจะได้พบกันมาก หลังจากเก็บเกี้ยวข้าวเสร็จคือในช่วงของฤดูหนาวและฤดูร้อน ในช่วงนี้เองที่เป็นโอกาสอันเหมาะสำหรับชายหนุ่มจะได้ไปเยือนฝ่ายหญิงในตอนกลางคืน จึงมีประเพณีการไปเกี้ยวสาวลงข่วงเข็นฝ่าย ดังตัวอย่าง
สาว บ่เป็นหยังดอกอ้ายเห็นชายมาก็อบอุ่น ย่านแต่เพิ่นพุ่นบ่มาผ่ายกลายทาง
อ้ายมาหยังมื้อนี้มีลมอันใดพัด ซ่วยขจัดความในใจน้องแน่นา…อ้ายเอย
(ไม่เป็นไรหรอกพี่ เมื่อเห็นพี่มาก็อบอุ่น น้องยิ่งหวั่นว่าพี่จะเดินผ่านไปบ้านอื่น พี่มีธุระอะไรหรือ ลมอะไรพัดมาจึงมาถึงบ้านน้อง ช่วยตอบให้หายข้องใจด้วยเถิด)
หนุ่ม โอนอหล้าเอ้ย การที่มามื้อนี้ความกกว่าอยากได้ฝ้าย
ความปลายว่าอยากได้ลูกสาวเพิ่น
อันเจ้าผู้ขันหมาแก้วลายเครือดอกผักแว่น
สิไปตั้งแล่นแค่นอยู่ตีนส่วมผู้ใดนอ
(น้องเอยธุระที่มาในวันนี้ ตอนแรกว่าจะมาดูฝ้ายแต่จุดหมายที่แท้จริงคือจะมาดูลูกสาวท่าน น้องผู้เปรียบเสมือนขันหมากลายเถาผักแว่น จะได้ไปประดับในห้องนอนของใครหนอ)
จากคำกล่าวทั้งสองบทนี้ทำให้รู้ว่าการสนทนากันต่างฝ่ายก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นคำกล่าวที่เปรียบเทียบถึงความในใจของทั้งสองฝ่าย เมื่อจ่ายผญากันไปเลื่อยๆต่างฝ่ายก็มักจะลงด้วยการพูดมาทั้งหมดนั้นก็ให้เป็นคำพูดจริงไม่หลอกล่วงกัน ดังตัวอย่างว่า
สาว คันบ่จริงน้องบ่เว้า คันบ่เอาน้องบ่ว่า
สัจจาน้องว่าแล้ว สิม้ายม้างแม่นบ่เป็น..เด้อ้าย
(หากไม่จริงใจน้องคงไม่พูด สัจจะของหญิงจะผันแปรไม่ได้หรอก)
หนุ่ม สัจจาผู้หญิงนี้บ่มีจริงจักเทื่อ ชาติดอกเดื่อมันบ่บานอยู่ต้นตนอ้ายบ่เซื่อคน..ดอกนา.๒๔ ( น้ำคำของหญิงไม่เคยพูดจริงสักครั้ง เหมือนดอกมะเดื่อหากไมบานอยู่บนต้น คนย่อมไม่ประจักษ์ถึงความจริง)
ผญาที่สะท้อนให้เห็นภาพของวิถีชีวิตของสังคมชนบทอีสานในอดีตได้เป็นอย่างดี ภาษาที่ถูกถ่ายทอดผ่านมาทางบทกวีนั้นย่อมก่อให้เกิดความบันเทิงใจหรือความสุขใจแก่ผู้ได้ฟังเสมอ ผญาเกี้ยวก็เป็นส่วนหนึ่งในวรรณกรรมอีสานที่บรรพบุรุษได้พยายามถ่ายทอดมาสู่อนุชนรุ่นหลัง แต่ปัจจุบันนี้ได้ลดบทบาทลงไปมาก คนหนุ่มสาวสมัยใหม่ไม่รู้จักคำผญาเกี้ยวเหล่านี้เลยก็มี จะเป็นเพราะวัฒนธรรมต่างถิ่นต่างภาษาเข้ามาแทนวัฒนธรรมเก่าๆ ก็ลดความจำเป็นไป หนุ่มสาวชอบความบันเทิงอย่างอื่นไป
หญิงสาวในอดีตจักรู้จักรักนวลสงวนตัว การแต่งการก็จะระมัดระวัง การจะออกนอกบ้านแต่ละครั้งก็ต้องขออนุญาติ พ่อแม่ หรือไปที่ไหนก็ต้องมีเพื่อนไปด้วย การให้สิทธิและเสรีภาพแก่สตรีในการเลือกคู่ครองของตน ญาติผู้ใหญ่ไม่เกี่ยวข้องด้วยมีเพียงคอยระวังมิให้ลูกสาวของตนเองเพลี่ยงพล้ำในการเลือก คือคอยสดับรับฟังว่าลูกสาวของตนติดพันอยู่กับใคร และคอยสืบความเป็นอยู่ของผู้นั้น ว่าดีหรือไม่ดี ถ้าเป็นคนดีก็ส่งเสริมให้ลูกของตนผูกไมตรีไว้ให้แน่นแฟ้น ถ้าเป็นคนไม่ดีก็ให้สลัดตัดรอนเสียแต่ต้นลม การเลือกคู่ครองนั้นโบราณอีสานมักจะสอนว่าให้เลือกคนขยัน มีปัญญา และเป็นชายหนุ่มที่ใจกว้างนับถือวงศาคณาญาติดังมีผญาสอนหญิงว่า
เพิ่งเอาผัวให้หาแนวปราชญ์นั้นเนอ ใจฉลาดฮู้คลองแท้สั่งสอน
หญิงใดได้ผัวนามปราชญ์ เป็นที่กล่าวเว้ายอย่องทั่วแดน๒๕
(จะมีสามีให้หาท่านผู้รู้ มีปัญญาฉลาดรู้จารีตประเพณีโบราณ หญิงคนใดได้สามีอย่างนี้ เป็นที่นิยมทั่วไป ) ผู้ชายที่รู้จักปรัชญาในการครองเรือน หรือได้ผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านมาแล้วจะเป็นที่หมายป้องของสตรีในอดีตมาก เพราะเป็นคนที่มีความอดทน รู้หลักของนักปราชญ์ ทั้งในคดีโลกและคดีธรรม ภูมิปรัชญาท้องถิ่นอีสานนั้นมักไม่นิยมเลือกคู่ชีวิตโดยมุ่งหาแต่สาวที่สวยงาม แต่กลับพบว่ามักจะสอนให้เลือกเอาคนที่มีความดี รู้การบ้านการเรือน รู้ธรรมเนียมของหญิง ไม่เป็นเกียจคร้าน ดังผญาคำสอนว่า
อันหนึ่งครั้นจักเอาหญิงให้เป็นนางใภ้ฮ่วมเฮือน
หญิงใดฮู้ฉลาดตั้งต่อการสร้างก็จึงเอานั้นเนอ
อันหนึ่งรู้ฮีตเฒ่าสอนสั่งตามคลอง
การเฮือนนางแต่งแปลงบ่มีคร้าน
หญิงนี้ควรเอาแท้เป็นนางใภ้ฮ่วมเฮือน๒๖
ผญาเกี้ยวที่นำมาเสนอในที่นี้เพื่อการศึกษาถึงคนในสังคมอดีต จึงมิใช่เป็นการเรียกร้องหรือเหนี่ยวรั้งภาพสะท้อนถึงวิถีชิวิตในอดีตให้หวนกลับคืนมาได้อีก เพราะนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้อยาก แต่เป็นการศึกษาเพื่อให้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมภาษาที่สะภาพถึงวิถีทางสังคมในปัจจุบัน นั้นคือรากฐานดั่งเดิมทางวัฒนธรรมประเพณีตลอดถึงวิสัยทัศน์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น นั้นคือความเป็นเราอย่างแท้จริง
คำผญาเกี้ยว นี้เป็นคำที่หนุ่มสาวใช้พูดจากัน เพื่อให้เกิดความรักใคร่ซึ่งกันและกัน มักจะกล่าวเป็นคำกลอนคล้องจองกันเป็นคำเปรียบเทียบ นิยมพูดถึงรูปร่างลักษณะ ฐานะ ยศศักดิ์ ของบุคคลนั้น

No comments:

Post a Comment