Thursday, 4 August 2011

ຜຍາອວຍພອນ

๒) ผญาอวยพร
การอวยพรมักจะใช้ในโอกาสต่างๆ ส่วนมากเป็นคำพูดของคนสูงอายุ ผู้อาวุโสหรือคนรักใคร่นับถือกันและเจตนาดีต่อกัน พูดเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้ฟัง หรือผู้รับพร เพื่อให้กำลังใจ และหวังให้ผู้ฟังได้รับความชื่นใจ ความสบายใจอาจใช้ในพิธีต่างๆเช่นในการสู่ขวัญ ผูกข้อต่อแขน หรือในโอกาสอื่นๆแล้วแต่ความเหมาะสม ผญาอวยพรเป็นบ่อเกิดสำคัญทางสุนทรียภาพอันเป็นอาหารทางจิตใจ ผญาอวยพรนี้ยังสะท้อนถึงความเชื้อของคนในท้องถิ่นภาคอีสานได้เป็นอย่างดี
ผญาอวยพรคือการกล่าวสิ่งที่ดีและเป็นมงคลต่อกันและ มนุษย์ย่อมปรารถนาอยากจะได้แต่สิ่งที่ดี คือ คำมั่งคั่ง ความสวยงาม สุขภาพแข็งแรง หรือยศถาบันดาศักดิ์ต่างๆ นัยตรงกันข้ามย่อมไม่ปรารถนา ความจน ความขี้เหร่ ความเจ็บป่วย หรือ คำนินทา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ผญาอวยพรนี้มักจะกล่าวเมื่อมีงานสำคัญๆ เช่น การได้เลื่อนยศ งานแต่งงาน หรืองานบวชเป็นต้น ดังผญาอวยพรงานบวช ว่า
ฝ้ายเส้นนี้แม่นฝ้ายมุงคล พระจอมบุญพุทธเจ้า
เอามาให้ผูกแขนหลาน ให้เจ้าบวชนานๆเป็นเถระเจ้า
ให้เจ้าเป็นพระผู้เฒ่าผู้ทรงคุณ คนมาหนุนทุกค่ำเช้า
ให้เจ้าได้สอนลูกเต้าพอแสนคน ทศพลอันผ่านแล้ว
คือพระไตรปิกฎแก้วให้เลือนไหล นำสัตว์ไปข้ามโลก
ให้ข้ามพ้นโอฆะสงสาร ให้ไปถึงนิรพานทุกคน
ทุกคน ก็ข้าเทอญ ชะยะสิทธิ ภะวันตุเตฯ๒๐

คำผญาอวยพรนี้ชี้บอกให้ผู้จะบวชรู้จุดหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาคือปริยัติทั้งสามประการคือเมื่อบวชมาแล้วจะต้องศึกษาพระธรรมให้จบพระไตรปิกฎคือปริยัติธรรมให้รู้อย่างชัดแจ้ง แล้วนำไปสู่ปฏิบัติธรรม เพื่อมุ่งสู่ปฏิเวธ นั้นคือพระนิพพาน
นักปรัชญามักจะนิยมสอดแทรกปรัชญาในการดำเนินชีวิตในการครองครองเรือนของคู่สามีภรรยาที่ควรประพฤติปฏิบัติตนเอง เพื่อความเจริญก้าวหน้าของครอบครัว คือสอนให้ภรรยารู้จักหน้าของตน ให้มีความซื่อสัตย์ต่อสามี เคารพผู้เป็นสามี อย่าเป็นคนเกียจคร้าน และรู้จักประหยัดทรัพย์สมบัติที่สามีหามาได้ ดังคำผญาอวยพรว่า
ฝ้ายอันนี้แม่นฝ้ายอินทร์แปลง เพิ่นแบ่งมาแต่ภูเขากาด
เอามาพาดแขนเจ้าทั้งสอง สมบัตินองไหลมาบ่ขาด
อย่าประมาทชายที่เป็นผัว ให้เกร่งกลัวคือพ่อคือแม่
อย่าข้องแหว่ชายอื่นบ่ดี หน้าที่มีให้เจ้าตกแต่ง
ให้เจ้าแต่งภาชน์แลงภาชน์งาย อย่าเบิ่งดายนิสัยขี้คร้าน
ให้ชาวบ้านติฉินนินทา สมบัติมาหนีไปเหมิดจ้อย๒๑
คำผญาอวยพรนี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ เป็นคำพูดของคนเฒ่าคนแก่ ผู้อาวุโสหรือคนที่รักใคร่นับถือและเจตนาดีต่อกัน พูดเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้ฟัง หรือผู้รับพร เพื่อให้กำลังใจและหวังให้ผู้ฟังได้รับความชื่นใจ ความสบายใจ และประสบความสุขความเจริญ ตลอดจนให้ปราศจากภยันตรายทั้งปวง เช่น เจ้าอยู่ให้มีชัย เจ้าไปให้มีโชค สรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย สรรพเสนียดจังไฮ ให้ระงับกลับหายไปสามื้อนี้วันนี้ เทอญ นี้คือจุดหมายของคำผญาอวยพร

No comments:

Post a Comment